การนอนหลับถือเป็นการพักผ่อนที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสาร Scientific Reports พบว่า คนที่ไม่ได้เข้านอนหรือตื่นนอนในเวลาเดิมทุกวัน มีแนวโน้มที่ผลการเรียนจะแย่กว่าคนที่เข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลา
ทีมวิจัยจากสถาบันการนอนหลับเพื่อสุขภาพ แห่งโรงพยาบาล Brigham and Women นำโดยแอนดรูว์ ฟิลลิปส์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์โรงเรียนการแพทย์ฮาร์เวิร์ด ทำการวิจัยโดยให้นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดจำนวน 61 คน บันทึกเวลาการเข้านอนและตื่นนอนของตัวเองผ่านไดอารี่ออนไลน์ทุกวัน เป็นเวลา 30 วัน ซึ่งพฤติกรรมการนอนของนักศึกษาแบ่งได้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เข้านอนและตื่นเวลาเดิมทุกวัน กับกลุ่มที่มีเวลาเข้านอนและตื่นนอนไม่แน่นอนในแต่ละวัน
โดยผลจากการวิจัยพบว่า การเข้านอนและตื่นนอนไม่เป็นเวลา ส่งผลให้ร่างกายหลั่งสารเมลาโทนินช้ากว่าคนที่เข้านอนเป็นเวลาถึง 3 ชั่วโมง ซึ่งเมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่ช่วยในการนอนหลับและเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยในการปรับนาฬิกาชีวิต เมื่อใกล้ถึงเวลานอน ร่างกายจะหลั่งสารนี้ออกมาเพื่อเป็นการส่งสัญญาณว่าได้เวลานอนแล้ว
หากนอนหลับไม่เป็นเวลาก็จะส่งผลให้เมลาโทนินถูกปล่อยออกมาช้า และทำให้นาฬิกาชีวิตรวนไปด้วย จึงทำให้นักเรียนกลุ่มที่เข้านอนและตื่นไม่เป็นเวลา มีสภาพร่างกายที่ไม่พร้อมสำหรับการตื่นรับวันใหม่ และมีแนวโน้มที่จะง่วง หรือต้องการนอนต่อ แทนที่จะลุกขึ้นมาเรียนอย่างสดชื่น ซึ่งเป็นผลจากการหลั่งสารเมลาโทนินที่ผิดปกติของร่างกายนั่นเอง การเข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลา จึงมีความสำคัญอย่างมาก ไม่ต่างจากการนอนหลับให้เพียงพอในแต่ละวัน
ขอขอบคุณ
Read more at http://www.unigang.com/Article/42166#c7CLvf3PkmX2zoXL.99